อากาศร้อน ๆ จะเปิดแอร์ทั้งวันให้ฉ่ำกาย สบายใจ ก็เกรงค่าไฟจะเพิ่มสูงขึ้นตามอุณหภูมิความร้อน อีกทั้งยังเปลืองพลังงานอีกด้วย เราจึงอยากช่วยคุณให้เย็นกาย เย็นใจ คลายความร้อนจากทั้งอากาศและบิลค่าไฟ ด้วยการแนะนำวิธีใช้แอร์อย่างไร ให้ประหยัดค่าไฟในช่วงที่อากาศร้อน ๆ
1. ล้างแอร์เป็นประจำ
หากใช้แอร์เป็นประจำ ก็ควรล้างแอร์เป็นประจำ จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือ ทุก 6 เดือน หรือสามารถดูตามความเหมาะสมในการใช้งานแอร์ได้เลย เช่น หากเปิดแอร์แล้วไม่เย็น เบื้องต้นให้ถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้างทุก 2 – 3 เดือน เพราะแอร์ที่ใช้งานบ่อย ๆ จะทำให้มีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกสะสมอยู่ หากไม่ทำความสะอาด แอร์จะทำงานหนัก และกินไฟมากกว่าเดิม
2. เปิดห้องเพื่อระบายอากาศ ก่อนเปิดแอร์
เปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศหมุนเวียนเข้าไปในห้องที่กำลังจะเปิดแอร์ ช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ในห้องก่อน เมื่อเปิดแอร์ ก็จะทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นได้เร็วขึ้น แอร์จะได้ไม่ทำงานหนักเกินไป ไม่เปลืองค่าไฟอีกด้วย
3. ปิดห้องให้สนิท เมื่อเปิดแอร์
เมื่อเปิดประตู หน้าต่างเพื่อระบายความร้อนภายในห้องแล้ว ก่อนเปิดแอร์ ควรตรวจสอบให้เรียบร้อยว่าประตู หน้าต่างปิดสนิทครบทุกบาน รวมถึงปิดม่านไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามาภายในห้องได้ เพราะหากความร้อนจากภายนอกเล็ดลอดเข้ามาภายในห้อง และยังต้องรักษาอุณหภูมิในห้องให้คงความเย็นไว้ได้ตลอดแล้ว แอร์จะต้องทำงานหนักขึ้น อีกทั้ง ไม่แนะนำให้ใช้แอร์ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือห้องที่ไม่มีประตูกั้น เช่น ห้องโถง ทางเดิน ทางขึ้นบันได เพราะแอร์จะไม่ค่อยเย็น แถมเปลืองพลังงาน เปลืองค่าไฟไปอีก หากจำเป็นจริง ๆ แนะนำให้ติดตั้งฉากกั้น หรือม่านที่สามารถเปิด-ปิดได้ จะได้ช่วยให้แอร์ทำงานหนักน้อยลง
4. เปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส คู่กับเปิดพัดลม
การเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น ก็จะทำให้แอร์กินไฟน้อยลงตามไปด้วย เพราะส่วนคอยล์ร้อนหรือคอมเพรซเซอร์ของแอร์จะทำงานน้อยลง เมื่อตั้งอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคอมเพรสเซอร์จะทำงานไม่นานก็ตัดการทำงาน เพราะอุณหภูมิลงไปถึงจุดที่ตั้งไว้แล้ว การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกสบายตัว และเมื่อเปิดพัดลมเป่ามาที่ตัว จะยิ่งทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นไปอีก เพราะการเปิดพัดลม ช่วยเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้องได้ อุณหภูมิในห้องจะลดลงประมาณ 2 องศาเซลเซียส สามารถประหยัดค่าไฟได้มากกว่าเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่ต่ำ เช่น 23 – 24 องศาเซลเซียส
5. หลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน และเพิ่มความชื้นในห้องแอร์
การทำงานของแอร์ จะใช้พลังงาน 30% ในการทำให้ห้องเย็นลง และใช้พลังงานอีก 70% กำจัดความชื้นในห้อง ทำให้อากาศแห้งลง หากในห้องมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เช่น รีดผ้าในห้องแอร์ และทำให้ภายในห้องมีความชื้น เช่น ตากผ้าในห้องแอร์ เลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ในห้องแอร์ แอร์จะทำงานหนักขึ้น และแน่นอนแอร์ก็จะกินไฟมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยง และปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้งานใหม่ จะได้ช่วยประหยัดพลังงาน และลดค่าไฟลงอีกด้วย
6. ตั้งเวลาปิดแอร์ ก่อนเลิกใช้งาน 60 นาที
เมื่อเราปิดแอร์ ความเย็นจะยังอยู่ภายในห้องนั้นประมาณ 30 - 60 นาที และหากเปิดพัดลมเบา ๆ ไปด้วย จะช่วยกระจายความเย็นระหว่างที่แอร์ปิดไปแล้วได้อยู่ ดังนั้น หากตั้งเวลาปิดแอร์ล่วงหน้าเอาไว้ เช่น ปิดแอร์ก่อนตื่นนอน 60 นาที จะช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกวิธี
7. เปลี่ยนแอร์เก่า เป็นแอร์ใหม่
หากใช้แอร์เครื่องเดิมมาเป็นเวลานาน ประมาณ 10 - 15 ปีขึ้นไป แล้วคิดว่าแอร์ที่ใช้ยังดูดี ทำงานได้ ให้ความเย็นอยู่ จึงยังไม่เปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ระบบภายในของแอร์ก็เสื่อมไปตามการใช้งานอยู่ดี ซึ่งอาจทำให้เปลืองค่าไฟได้ เพราะแอร์เก่าต้องใช้พลังงานในการทำความเย็นมากกว่าปกติ แนะนำให้เลือกซื้อแอร์เครื่องใหม่จะดีกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบของแอร์ให้ประหยัดพลังงาน และประหยัดไฟมากขึ้น เช่น แอร์ระบบ inverter
8. เลือกค่า BTU แอร์ ให้เหมาะกับขนาดห้อง
บางคนอาจมีความเข้าใจผิดว่า ยิ่งค่า BTU สูง ยิ่งดี ยิ่งทำให้ห้องเย็น แต่หากสูงเกินความจำเป็น จะทำให้คอมเพรสเซอร์ตัดบ่อย และหากต่ำเกินไป จะทำให้แอร์ทำงานหนักและกินไฟขึ้น จึงควรเลือกค่า BTU ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง ควรเป็นรุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โดยสามารถพิจารณาเลือกได้ ดังนี้
ขนาดห้อง (เพดานสูง 2.5 ม.) : 9 - 15 ตร.ม.
ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 9,000 BTU
ขนาดห้อง (เพดานสูง 2.5 ม.) : 16 - 20 ตร.ม.
ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 12,000 BTU
ขนาดห้อง (เพดานสูง 2.5 ม.) : 21 - 30 ตร.ม.
ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 18,000 BTU
ขนาดห้อง (เพดานสูง 2.5 ม.) : 31 - 40 ตร.ม.
ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 24,000 BTU
9. ติดตั้งคอมเพรสเซอร์ในบริเวณที่เหมาะสม
เนื่องจากคอมเพรสเซอร์แอร์ เป็นตัวระบายความร้อน ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้ง จึงควรเป็นพื้นที่อากาศถ่ายเท เป็นที่ร่ม ไม่โดนแดดโดนฝนโดยตรง ไม่ควรติดตั้งบริเวณดาดฟ้า และพื้นปูน แนะนำให้ติดตั้งยกสูงเหนือพื้น อากาศจากคอมเพรสเซอร์จะได้ถ่ายเทได้ดี คอมเพรสเซอร์จะได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เปลืองไฟ